05 Jul 2022

When in Hawaii

Yuree Kensaku

copied

Yuree Kensaku is telling us about her story of a fun journey in Hawaii! (In Thai). This project is part of 100 Tonson Art Grants, a program funded by the 100 Tonson Foundation and the artists who donated their projects’ sell profits to provide opportunities and support the Thai contemporary art community.


การได้ไปอเมริกาครั้งแรกของยุรีคือครั้งที่พิเศษสุด ๆ เพราะยุรีมีโอกาสได้เป็นศิลปินไทยคนเดียวที่ได้ร่วมแสดงผลงานศิลปะใน Hawaii Triennale 2022 ที่ Honolulu, Hawaii การจัดเทศกาลศิลปะในลักษณะนี้ที่ฮาวายเริ่มมีขึ้น ตั้งแต่ปี 2017 ที่เรียกว่า Hawaii Biennale (จัดขึ้นทุกสองปี) ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนเป็น Triennale (จัดขึ้นทุกสามปี)


การเดินทางไปร่วมแสดงผลงานใน Hawaii Triennale 2022 ที่โฮโนลูลูของยุรีเริ่มต้นจากได้รับอีเมล์ของCurator ชื่อคุณ มิวาโกะ เทสุกะ Miwako Tezuka ที่ส่งมาหายุรีเมื่อปี 2019 ตอนนั้นเธอกำลังเดินทางดูผลงานของศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อคัดเลือกและทาบทามมาเข้าร่วมใน Hawaii Triennale คุณมิวาโกะสนใจเจอตัวยุรีเพื่อขอดูผลงานเก่า ๆ และอยากให้ยุรีอธิบายถึงงานที่เคยทำมาก่อนหน้า คุณมิวาโกะได้เล่าใหัฟังถึงงานที่จะจัดที่ฮาวายในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย


หลังจากที่ได้เจอคุณมิวาโกะที่ไทยเวลาผ่านไปเกือบ 1ปีเต็ม คุณมิวาโกะก็ติดต่อมาอีกครั้งเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ  Hawaii Triennale 2022 หลังจากนั้นเราก็เตรียมงานที่มีความคืบหน้าอย่างช้า ๆ ผ่านทางอีเมล์ และสถานการณ์โควิดก็ทำให้พวกเรากังวลมากว่า ยุรีจะสามารถไปทำงานที่นั่นได้หรือไม่ เราต้องปรับแผน ปรึกษาหาทางเลือกต่าง ๆ อยู่หลายต่อหลายครั้ง จนมาลงเอยด้วย การส่งผลงาน Atmosfear ซึ่งเป็นผลงานอะคริลิก และ คอลลาจ บนผืนผ้าใบขนาดยักษ์ที่เคยจัดแสดงที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี เมื่อปี 2017 ลงเรือไปจัดแสดงที่ฮาวาย


ธีมงานในครั้งนี้คือ Pacific Century หรือในการตีความของยุรีคือคลื่นความเปลี่ยนแปลงของโลกและวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในน่านน้ำแปซิฟิก ทั้งทางฝั่งเอเชีย และทางฝั่งอเมริกา มีผลงานศิลปินเข้าร่วมทั้งจากฮาวายและทั่วโลก 43 คน/กลุ่ม จัดแสดงในมิวเซียมสำคัญของโฮโนลูลูทั้ง 7 แห่ง รวมไปถึง Honolulu Museum of Art ที่ยุรีจัดแสดงผลงานด้วย


การเดินทางในช่วงโควิดคืออุปสรรคใหญ่ที่สร้างความเครียดให้กับพวกเราตั้งแต่ก่อนบินจนถึงจบทริปเลยแหละ โดยเฉพาะตอนก่อนจะขึ้นเครื่องที่กรุงเทพ ดันไม่ได้กรอกข้อมูลการตรวจโควิดก่อนเข้าฮาวายทางออนไลน์มาก่อน ตอนนั้นใจหายวูบ คิดว่าคงต้องโดนกักตัวและอดไปงานเปิดอย่างที่วางแผนไว้แหง ๆ เพราะเขาระบุไว้ว่าถ้าเราไม่กรอกฟอร์มออนไลน์ แม้จะมีเอกสารรับรองมาแล้วก็ต้องโดนกักตัว แต่แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดี โล่งอกไป


แต่โควิดก็สร้างปัญหาในการเดินทางภายในอเมริกาของเราอยู่เรื่อย ๆ ด้วยความที่ นี่คือการมาอเมริกาครั้งแรก เลยถือโอกาสไปรัฐอื่น ๆ ด้วย ถ้าหากไม่เลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะอาจจะเสี่ยงติดโควิดและทำให้ทริปล่มได้ เลยเลือกลดความเสี่ยงด้วยการเช่ารถขับแทนการใช้ขนส่งสาธารณะมันเสียเลย!



รู้ไหมว่ารถสำหรับเช่าที่นั่น เพิ่มราคาขึ้นจากรถญี่ปุ่นแบบบ้านเราอีกนิดเดียวเราก็ได้ขับ Ford Mustang แล้ว! ดีจัง! ว่าแต่ ทำไมกระจกข้างรถมันปิดไม่สนิทนะ สืบไปสืบมาปรากฏว่ารถรุ่นนี้มักมีปัญหาในการเลื่อนกระจกให้ปิดสนิท ต้องใช้มือดันเอาเอง เอ๊ะยังไง?



คืนแรกที่เราเดินทางมาถึง หลังจากได้ไปยลโฉมชายหาดฮาวายอย่างรวดเร็วแล้ว ก็ได้รู้ว่าเนื่องจากวาระพิเศษนี้ที่มีการจัดเทียนนาเล่ ทางเจ้าภาพจึงมีการนำชมในพระราชวังอิโอลานี (Iolani Palace) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์คาเมฮาเมฮา (Kamehameha) แห่งฮาวาย และมีดนตรีมาเล่นด้วย ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอดีตที่ยาวนานและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของที่นี่ วังประดับประดาไปด้วยแสงไฟและผลงานแมปปิ้งของ Jennifer Steinkamp ศิลปินอเมริกัน ฉายลงบนผนังด้านนอกของอาคารได้อย่างงดงาม ได้เดินดูด้านนอกและด้านในของวัง ในยามค่ำคืน




หลังจากนั้นพอมีโอกาสได้เดินเตร็ดเตร่เราก็ไปเดินดูร้านของฝาก หาของกินกันไป สังเกตว่าโดเรมอนที่นี่ผิวแทนด้วยนะ ตุ๊กตาอะไรก็ตามผิวแทนอาบแดดกันหมดจ้ะ  เท่อ่ะ เลยซื้อของฝากให้ตัวเองซะเลย




ก่อนที่เราจะเดินทางไปที่มิวเซียมต่างๆในแต่ละวันเราก็จะหาอะไรกินก่อนเดินทางไป ได้เจอร้านอาหารฮาวายที่คนนิยม คนเข้าคิวกันยาวสุดฤทธิ์ไม่ว่าจะเวลากี่โมงแล้วก็ตาม สรุปคือไม่ได้กิน เลยสักวัน เพราะต้องรีบไป ที่นี่คนเยอะมากๆ ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติแล้ว



วันที่มาตรวจเชค ซ่อมแซมงานก่อนที่จะเปิด ทีมงานเอาใจใส่และปฏิบัติกับพวกเราอย่างดี ยุรีได้มีโอกาสช่วยเค้าจัดไฟให้งานของยุรีเองด้วยเพราะเดินทางมาถึงในช่วงที่เค้า setไฟกันพอดี





จู่ๆเราก็รู้สึกถึง ความพิเศษของงานศิลปะ ความภูมิใจที่งานของเราพาเรามาไกลขนาดนี้ มาในดินแดนใหม่ๆ ที่ใหม่ๆที่เราไม่เคยไป ได้เห็นผลงานของเราอยู่ในสถานที่ขนาดใหญ่ และจะมีคนเห็นจำนวนมาก ที่เป็นคนหลากหลาย ต่างชาติ ต่างภาษา


ใกล้ ๆ งานของยุรีเป็นผลงานของศิลปินจีน Xu Bing ที่ยุรีชอบและสนใจเป็นพิเศษ พอมองจากด้านหน้า จะเห็นเป็นภาพคล้ายงานภาพวาดทิวทัศน์ด้วยพู่กันจีน แต่พอเดินไปมองด้านหลัง มันเป็นภาพที่ถูกสร้างจากการซ้อนทับของถุงพลาสติก ที่เรียงตัวกันเป็นชั้น ๆ ต่างหาก ตรงกับธีมของงานที่เกี่ยวกับทะเลและความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ส่วนงาน Atmosfear ของยุรีเอง ก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หายนะต่าง ๆ ที่มีต้นตอจากมนุษย์ และความกลัว     


วันเปิดงานยุรีอยู่ประจำไม่ไกลจากผลงานเกือบตลอดในช่วงเช้า มีพ่อแม่จูงลูกหลานมาดูงานศิลปะกันมากมาย มีคุณลุงคนนึงที่เป็นทีมดูแลความเรียบร้อยของพิพิธภัณฑ์เดินมาดู อยู่หลายต่อหลายครั้ง คุณลุงเดินมาชมและขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเฮฮากันไป คนที่นี่มีอุปนิสัยน่ารักและเป็นกันเองมากๆเลย







วันที่มาถึง ได้เจอคุณเมลิสซ่า Melissa Chiu Curatorial Director ของ Hawaii Triennale 2022 ตั้งแต่หน้าโรงแรมซึ่งยุรีนี่มอมแมมมากๆเพราะระหกระเหินมาไกลมากๆ แต่คุณเมลิสซ่าก็จำได้และเดินเข้ามาทักทาย ยุรีดีใจมากที่ได้เจอคุณเมลิสซ่าอีกครั้ง แต่มีความเขินๆเล็กน้อยในชุดที่หลับมาบนเครื่องบินอย่างยาวนาน และในวันเปิดงานในส่วนแสดงงานของยุรี คุณ เมลิสซ่า และ คุณ มิวาโกะ ก็อยู่ที่นั้น นอกจากนั้นก็ได้เจอกับคอลเลคเตอร์ชาวอเมริกันที่เคยซื้อผลงานของยุรีไปหลายชิ้นรวมทั้งผลงานขนาดใหญ่ของยุรี ไปไว้ที่อเมริกา เธอมีเรื่องเล่าให้ฟังว่าตอนเห็นผลงานของยุรีที่ฮ่องกง (งานของยุรีที่ไปจัดแสดงใน Art Basel Hong Kong 2015) ลูกชายของเธอกำลังดูผลงานทางออนไลน์อยู่ เลยโทรมาพูดถึงงานยุรีให้ฟัง เธอบอกกับลูกชายว่า ตอนนี้ฉันกำลังยืนอยู่หน้าบูธของยุรีอยู่พอดีเลย!! บังเอิญมาก – ซึ่งเป็นเรื่องที่ชื่นใจมากที่เดียว



หลังจากที่เข้าร่วมงานต่างๆ ของเทียนนาเล่ ซ่อมผลงาน และสัมภาษณ์สื่อ ในช่วง5วันแรกแล้ว ยุรีก็ใช้เวลาอีกประมาณ 3 วันที่เหลือในการขับรถชมเมืองส่วนต่าง ๆ ของโฮโนลูลู และไล่ดูงานภายใต้ HT22 ที่แสดงอยู่ที่มิวเซียมอื่น ๆ จนเกือบครบเลย เราขับรถเดินทางออกจากโฮโลลูลู ไปทางเหนือ ตั้งใจไปกินร้านอาหารชื่อดังเพราะเป็นร้านโปรดของโอบาม่า และเป็นทางผ่าน ส่วนพี่เมธีเองก็ตั้งใจไปร้านอะคูเลเล่ที่เพื่อนที่ไทยแนะนำให้แวะถ้ามีโอกาสได้มาฮาวายด้วย ซึ่งเจ้าของร้านเป็นนักอูคูเลเล่ที่มีชื่อเสียงด้วย











ก่อนที่ยุรีจะต้องเดินทางออกจากฮาวายเพื่อไปสำรวจรัฐอื่น ๆ ของอเมริกา ยุรีรู้สึกอิ่มเอมและภูมิใจที่ได้แสดงงานที่นี่ ผู้คนที่นี่ช่างดูมีชีวิตชีวา ใช้ชีวิตติดชายหาด อยู่นอกบ้านกันตลอด นักท่องเที่ยวบางคนก็ขี่รถคันจิ๋ว (รูปร่างหน้าตาอย่างกับรถในการ์ตูน ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ ที่เราดูตอนเด็กๆ) ที่สามารถเช่าเพื่อซอกแซกตามเมืองได้ด้วย พื้นที่ทางศิลปะของฮาวายได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์ มีงานสะสมที่มีค่า แสดงผลงานที่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์และร่วมสมัย


Honolulu มีอะไรอีกมากให้เราสำรวจต่อไป ไว้จะรอวันที่จะได้กลับมาอีก แล้วจะมาสำรวจต่อนะ!


——-


Back Story: Yuree Kensaku was one of 43 international artists who are invited to be part of Hawai‘i Triennial 2022 (HT22). Her two large murals Haphazard Animals 3.6 x 11.78 m  and Land of the “Mermaid 3.6 x 6.61 m, from Atmosfear project were selected to be part of this large event and displayed at Honolulu Museum of Art, Hawaii ( February – May 2022)


Photo Credit: Honolulu Museum of Art